วันอาทิตย์, เมษายน 10, 2559

วันอาทิตย์, เมษายน 10, 2559
จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้

                นโยบายหลายๆ อย่างของคนระดับผู้บริหารที่ออกมา หลายฝ่ายมองดูข้อมูลแล้วอาจจะคิดว่าตนเองคิดดีแล้ว แต่ถ้าถามคนระดับล่างอย่างผมแล้วบอกได้เลยว่า นโยบายหลายอย่างสร้างความเสียหายให้กับรัฐอย่างมากมาย โครงการหลายโครงการทุ่มเม็ดเงินลงมามากมายมหาศาล แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่คุ้มเลย แล้วทำไมหลายๆ โครงการยังดำเนินงานมาได้ทุกปี บางปีเพิ่มอีกหลายช่วง

                แล้วทำไมโครงการหลายอย่างจึงยังดำเนินโครงการอยู่ได้ เป็นเพราะการรายงานโครงการไม่ตรงตามความเป็นจริง นี่คือความจริงในระบบราชการไทย ที่หลายหน่วยงานยังเป็นแบบนี้ เนื่องจากหัวหน้าหน่วยงานกลัวว่าถ้ารายงานตามความเป็นจริงแล้วจะทำให้ตนเองได้รับผลกระทบ ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายของนโยบายที่วางเอาไว้ กลัวว่าจะไม่ได้รับเงินตามโครงการอีก เพราะหลายๆ โครงการสามารถนำมาผันเป็นรายได้ให้กับตนเอง เป็นรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนที่ได้รับประจำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้บริหารส่วนมากของระบบราชการไทย

               ดังนั้น นโยบายอีกนโยบายหนึ่งที่ผมบอกว่าควรมองกลับในบทความนี้ คือการปลูกฝังค่านิยมให้กับคนรุ่นใหม่ ในเรื่องการไม่ทุจริตคดโกงไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะว่าต่อให้เราปลูกฝังเด็กอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าสู่ระบบราชการเมื่อใดก็ต้องไปเป็นลูกน้องของคนขี้โกงส่วนใหญ่ เริ่มต้นเข้าไปก็มีอุดมการณ์ที่ได้รับการปลูกฝังมา แต่เมื่อเข้ามาได้ไม่นานก็จะเริ่มรู้ว่าคนระดับลูกน้องไม่สามารถจะไปปรับเปลี่ยนอะไรในองค์กรที่ตนเองเป็นลูกน้องของคนขี้โกงได้เลย เหมือนที่ผมพยายามมามากกว่า 30 ปี ในระบบราชการ ได้รู้ว่าแม้แต่คนที่สอนให้เราไม่ทุจริตคดโกงหลายคน ก็คือคนที่กระทำการทุจริตคดโกงตัวยง สุดท้ายถ้าเป็นคนที่ไม่มีอุดมการณ์จริง ไม่นานเขาก็จะก้าวเข้าไปในวงการของคนพวกนี้ ส่วนคนที่ยังมีอุดมการณ์อยู่ก็ได้แค่มองว่าเมื่อไรเวรกรรมจะสนองคนพวกนี้ หากทนไม่ได้จริงๆ ก็ได้แค่ลาออกไปเริ่มต้นในองค์กรใหม่ แต่สุดท้ายก็เหมือนเดิม ต้องกลับออกมาทำธุรกิจของตนเอง และก้าวต่อไปของคนที่โดนเปลี่ยนอุดมการณ์กลับมาเป็นคนคดโกงก็จะพยายามผันตนเองเข้าสู่วงการระดับหัวหน้าด้วยวิธีการต่างๆ จนได้เป็นหัวหน้าในที่สุด คนเหล่านี้ก็จะก้าวเข้าสู่ระดับหัวหน้าที่ขี้โกงต่อไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

                 จากที่กล่าวมาก็คงจะรู้ว่าการที่จะทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่ยุคของการไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น ก็ต้องเริ่มจากการปราบปรามคนระดับหัวหน้าที่มีข่าวเรื่องการโกงกิน ไม่ใช่คอบปกป้องโดยการอ้างว่าผู้ร้องเรียนไม่ลงนาม  เพราะการไม่ดำเนินการอย่างไรเลยสำหรับผู้ที่โดนร้องเรียน คือการสมรู้ร่วมคิด และเห็นด้วยโดยปริยาย จะทำให้เขาคิดว่าเราทำถูกแล้ว เหมือนดังพ่อแม่ที่คอยช่วยเหลือลูกเมื่อลูกกระทำความผิด จนสุดท้ายลูกก็กลายเป็นโจรไปเพราะการละเลยไม่ใส่ใจของพ่อแม่

                เมื่อเราทำให้คนระดับหัวหน้าไม่กล้าทุจริตคอรัปชั่นเมื่อใด คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาในระบบราชการ ซึ่งเป็นระดับลูกน้องทั้งนั้น ใครเลยจะกล้าทุจริต จริงไหมครับ